Skip to Content

จากโปรเจกต์สานฝันนักต้มเบียร์ สู่แบรนด์เบียร์ ที่ Represent เสน่ห์ไทย ผ่านแพคเกจจิ้ง Vana Brewing (The Brewing Project)

Vana Brewing (The Brewing Project) จากโปรเจกต์สานฝันนักต้มเบียร์ สู่แบรนด์เบียร์ ที่ Represent เสน่ห์ไทย ผ่านแพคเกจจิ้ง

 

ท่ามกลางแบรนด์เครื่องดื่มละลานตา ถ้าต้องหยิบเครื่องดื่มจากชั้นวางมาหนึ่งแบรนด์ โดยไม่รู้ว่าแต่ละแบรนด์แตกต่างกันยังไง รสชาติเป็นแบบไหน รวมถึงไม่มีแบรนด์ที่รู้จัก ลูกค้า จะมีวิธีเลือกหยิบเครื่องดื่มด้วยวิธีไหนบ้าง ?

 

เพื่อตอบคำถามด้านบนแบบลึกถึง Insight ผมนัดหมายกับ คุณบิว ธราทิป ธงชัยภูมิ Art Director และ คุณเบน ชลัช ว่องสิริชนม์ Brewer ประจำแบรนด์คราฟต์เบียร์ที่มีชื่อเสียงจากงานดีไซน์ และแบรนด์เจ้าของรางวัลชนะเลิศในงานประกวดเบียร์หลากหลายเวที ควบอดีตผู้จัดโปรเจกต์สานฝันนักต้มเบียร์ไทยทั่วประเทศ ‘The Brewing Project’

 

”เราไม่ใช่คราฟต์เบียร์ไทยเจ้าแรกในตลาด” นั่นเป็นโจทย์ใหญ่ของ The Brewing Project (ที่กำลังจะรีแบรนด์เป็น Vana Brewing) ณ วันที่พวกเขาก้าวเข้าสู่ตลาดคราฟต์เบียร์

 

 

01 : The Brewing Project

“The Brewing Project มันเริ่มจากตอนเราเพิ่งสอบกรรมการเบียร์ผ่าน แล้วอยากจัดงานประกวดเจ๋ง ๆ ที่ไทย เราก็เลยคุยกับทีมว่า ถ้าเกิดเราพาคนชนะไปต้มเบียร์กับ Brewmaster ที่ต่างประเทศ แล้วก็ได้มีเบียร์ที่เขามีส่วนร่วมในการออกแบบสูตร ผลิตอย่างถูกกฎหมาย และกลับมาจำหน่ายในไทย น่าจะเป็นเหมือนความฝันเขา”

แต่เมื่อโควิด 19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก The Brewing Project ก็จำต้องชะงัก แล้วเปลี่ยนจากโปรเจกต์ประกวด มาเป็นแบรนด์คราฟต์เบียร์ “เราไม่รู้ว่ามันจะยาวนานแค่ไหน ก็เลยเริ่มทำสูตรที่ 3 4 5 6 หลังจากนั้นก็ยาวเลย มันกลายเป็นแบรนด์เบียร์แบรนด์ที่เราช่วยดูเรื่องสูตร กับเรื่องการผลิตให้”

เวลาผันผ่าน บทบาทก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลและเป้าหมาย เมื่อมีผู้จัดรายใหม่ที่ทำได้ดีอยู่แล้ว The Brewing Project จึงเปลี่ยนจากผู้จัด เป็นผู้สนับสนุน

 

 

02 : Brand Recognition

เมื่อพูดถึงแบรนด์ The Brewing Project พื้นหลังสีขาวคู่กับรูปวาดลายเส้นไทย ๆ สีดำ ที่มักจะมีองค์ประกอบของลายไทยปะปนอยู่อย่างมีเสน่ห์และน่าค้นหาในคราวเดียว คงเป็นภาพสะดุดตาของหลายคน

ครั้งหนึ่งผมเคยเปิดภาพแพคเกจจิ้งของแบรนด์ The Brewing Project ให้คนรู้จักดู เพียงไม่กี่วิก็สามารถเรียกความสนใจ และเข้าสู่การตัดสินใจซื้อในทันที ถึงตรงนี้หลายคนอาจกำลังคิดว่าแค่เราทำฉลากให้สวย ก็มีโอกาสชนะใจลูกค้าได้แล้ว ถูกส่วนหนึ่งครับ นั่นคือพลังของแพคเกจจิ้ง แต่ก็ยังไม่ใช่ทั้งหมดที่ซ่อนอยู่หลังการออกแบบฉลาก

เพราะกลยุทธ์การทำแพคเกจจิ้งของ The Brewing Project มีมากกว่าแค่ความสวยงาม

ในขั้นแรกของการทำแพคเกจจิ้ง The Brewing Project ใช้วิธีสำรวจคู่แข่ง รีเสิร์ชกลุ่มลูกค้า หลังจากนั้นจึงมองหาเอกลักษณ์ที่สามารถชนะทั้งคู่แข่ง และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ในหมัดเดียว

“เราเดินดูเบียร์ตามชั้นวางขายในที่ต่าง ๆ แล้วเจอว่าสีมันเยอะมาก เรากลับมาคิดว่าถ้ามันมีอะไรสักอย่างที่เป็นแบรนด์บล็อกเอาไว้พักสายตา คนต้องพักสายตาที่นั่นแน่ ๆ คนต้องเดินเข้าไปดูแน่ ๆ”

แล้วเมื่อดูกลุ่มลูกค้า “ตลาดคราฟต์เบียร์ไทยช่วง 2017 คนดื่มเป็นชาวต่างชาติ 80% คนไทย 20% ชาวต่างชาติที่มาเที่ยวประเทศเรา เขามองหา Local Brand ในขณะเดียวกันคนไทยเองก็พร้อมสนับสนุนคนไทยทำ โดยเฉพาะคนตัวเล็ก ๆ ทำ”

 

นั่นทำให้กรอบการออกแบบของ The Brewing Project ในตอนนั้นถูกประกอบไว้ด้วย

1. การเป็นจุดพักสายตา

2. การสื่อสารให้ลูกค้ารู้ว่า นี่คนแบรนด์ไทย ผลิตโดยคนไทย แม้มองเพียงแวบเดียว

จากทั้ง 2 ข้อ The Brewing Project จึงเลือกหยิบลายไทยจากจิตรกรรมฝาผนังในวัด มาอยู่บนฉลากคราฟต์เบียร์ และกลายเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ ที่สะกดสายตาให้หยุดมองท่ามกลางแบรนด์เครื่องดื่มจำนวนมาก และสามารถคว้ารางวัลออกแบบจาก 2 เวทีใหญ่อย่าง DEmark และ Good Design award 2023

นอกจากการดึงดูดความสนใจ การออกแบบฉลากที่มีความ Unique และงดงาม ยังส่งเสริมให้ภาพลักษณ์และคาแรกเตอร์ของแบรนด์มีภาพจำที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถส่งเสริมภาพลักษณ์และรสนิยมของลูกค้าด้วยเช่นกัน

 

 

03 : Brand Awareness

ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าช่วงแรก หรือชักช่วงเวลาจะทำได้ดี และมีคนให้ความสนใจมากแค่ไหน แต่นั่นก็เทียบได้กับดอกไม้ไฟ เพียงชั่วพริบตา ก็ค่อย ๆ เลือนหายจากการรับรู้ของลูกค้า และดับลง เพราะกฎหมายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

คุณบิวบอกกับเราว่า ผลกระทบของกฎหมาย แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม

1. กลุ่มผู้ผลิต ที่ไม่สามารถโฆษณา หรือเล่าถึงส่วนประกอบและจุดเด่นในสินค้าของพวกเขาได้

2. กลุ่มร้านค้า ไม่สามารถแสดงฉลากของเครื่องดื่มแต่ละแบรนด์ได้ ณ จุดขาย

3. กลุ่มผู้บริโภค ไม่สามารถรีวิว แนะนำ ไปจนถึงถ่ายภาพลงในออนไลน์ได้

 

“ในกฎหมายเขียนชัดมากว่า ‘ผู้ใด’ นั่นหมายถึงทุกคน ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการร้านค้า คนธรรมดาก็โดนด้วยเหมือนกัน เรามองว่ามันคือความไม่เท่าเทียมทางการแข่งขัน เพราะเราเพิ่งเกิดใหม่ เราไม่สามารถแข่งขันในเรื่องของการรับรู้เพิ่มเติมได้เลย ยกเว้นจะทำในสิ่งที่เราทำได้ในพื้นที่การขายเท่านั้น” - คุณบิว

ผมว่ามันเทียบได้กับการที่เราสร้างแบรนด์ร้านอาหารขึ้นมา ช่วงแรกมีคนให้ความสนใจ และกระแสตอบรับในออนไลน์ค่อนข้างดีเลยทีเดียว แต่ในระยะยาวที่เราไม่ลงภาพสินค้า หรือเอนเกจกับลูกค้าบนออนไลน์ ซึ่งเขาเป็นคนที่ไม่ได้อยู่ในระแวกใกล้เคียงกับจุดขาย จะมีกี่คนที่ยังจำแบรนด์ของเราได้ ท่ามกลางแบรนด์ และคอนเทนต์จำนวนมาก

แต่ความเสี่ยงในธุรกิจข้อนี้ เป็นความเสี่ยงที่คนทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รู้ว่าต้องแบกรับตั้งแต่วันที่ตัดสินใจลงสนาม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า กฎที่ถูกเขียนมานาน จะเป็นกฎที่ดีและตอบโจทย์ตามยุคสมัย คนทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงพยายามต่อสู้ และทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด

 

The Brewing Project ก็กำลังพยายามในแบบของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการโฟกัสในฝั่งออฟไลน์ ในส่วนหน้าร้าน หรือการจัด Event Workshop ในแง่ Educative เพื่อ Building community “พวกเรามีความสุข และมี Passion กับการเจอกับคนที่ชอบอะไรเหมือนเรา”

หนึ่งในกลยุทธ์การตลาดที่สามารถพาแบรนด์ไปอยู่ในสายตาผู้บริโภคมากขึ้น และยังสามารถเข้าถึงฐานลูกค้าเดิมของแบรนด์ที่ร่วมมือกัน จนได้รับเสียงตอบรับว่าเป็นกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จสูง คือการทำ Brand Collab “Collab มันคือการแลกเปลี่ยนความรู้ แล้วก็แชร์ประสบการณ์ร่วมกัน อีกมุมมันคือสีสันของคราฟต์เบียร์ เหมือนเพื่อนเล่นกับเพื่อนแล้วก็ทำเบียร์ออกมาตัวหนึ่ง”

“ในแง่ Marketing มันก็ทำให้ร้านค้า และผู้บริโภคเห็นว่าแบรนด์เรามีความเคลื่อนไหว บวกกับร้านคราฟต์เบียร์เขาต้องการหาเบียร์ที่มันใหม่ บางทีอาจจะผลิตน้อย ๆ เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ตลอด ฉะนั้นการที่เราจะขายแค่เบียร์ที่ผลิตประจำ ร้านอาจจะรู้สึกว่าตัวเดิมเกินไป การมี Collab ใน Volume เล็ก ๆ แต่มีเรื่อย ๆ ผมว่าเขาก็ยินดีที่จะสนับสนุน และทดลองเอาไปขายที่ร้าน”

 

 

04 : Brand and business

หลายเสียงของคนทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บอกกับผมว่า ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กำลังเดินไปสู่จุดที่คนขายมากเกินความต้องการของคนซื้อ คุณเบนเองก็พูดถึงประเด็นนี้ว่า ย้อนกลับไปราว 4 - 5 ปี ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบ้านเราคึกคักมาก ในคอมมูนิตี้มีการแลกเปลี่ยน แชร์ข้อมูล รวมถึงการหาเพื่อแชร์เครื่องดื่มราคาแพงจากต่างประเทศที่ค่อนข้างบ่อย

แต่วันนี้ความต้องการของลูกค้าลดลงเรื่อย ๆ “กำลังซื้อของลูกค้าลดลง ผมไม่รู้ว่ามันเกิดจากภาพเศรษฐกิจด้วยรึเปล่า แต่ถ้าให้ยอมรับตรง ๆ คนใช้จ่ายในคราฟต์เบียร์ลดลง”

ความเสี่ยงของการเข้ามาในธุรกิจน้ำเมาจึงไม่ได้มีแค่เรื่องกฎหมาย เรื่องทุน แต่ยังจำเป็นต้องมีแผนธุรกิจที่รอบคอบด้วย

 

“การทำแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จ หรืออยู่รอด ในเชิงตัวเลขมันก็ต้องไม่ขาดทุน ต้องจัดสรรงบให้ดี จัดการสต๊อกให้ได้ เพราะเบียร์มีสต๊อกที่ต้องค้าง และสต๊อกที่ต้องจัดเก็บ เรื่องกฎหมายเองก็ต้องรู้ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการเข้าใจในพื้นฐานอุตสาหกรรม มองเห็นว่าอะไรคือช่องว่าง อะไรคือเทรนด์ เห็นความต้องการของลูกค้าซึ่งในแต่ละยุคสมัยมันก็ไม่เหมือนกัน” - คุณเบน

“เรื่องการสร้างทีมที่ช่วยคิด ช่วยสนับสนุนหลังบ้าน หน้าบ้าน และช่วยวาง Business Model ให้ชัด ก็สำคัญครับ - คุณบิวเสริมส่งท้าย


 

ทำเบียร์ว่ายากแล้ว ขายเบียร์ให้ได้ ยากยิ่งกว่า เพราะกฎหมายหลายอย่างปิดกั้นให้คนทำเบียร์โฆษณาให้ลูกค้ารู้จักไม่ได้เลย แล้วเรายังพอมีทางไหนอีกบ้างในการทำการตลาด มาร่วมหาทางรอด ศึกษาเทรนด์ตลาดคราฟต์เบียร์ในไทยว่ายังมีโอกาสหรือช่องว่างให้ไปต่อได้อีกมั้ย กับคุณเบน - ชลัช ว่องสิริชนม์ Brewer Vana Brewing (The Brewing Project)

ที่งาน Damn Expo 2025 งานนี้เข้าฟรี! ตลอดทั้ง 2 วัน ตั้งแต่ห้างเปิดยันปิด

ลงทะเบียนได้เลยที่ : https://bit.ly/DamnExpo2025


📅วันที่ 19 – 20 มีนาคม 2568

⏰11.00 น. – 23.00 น.

🏢 MCC HALL ชั้น 3 THE MALL LIFESTORE BANGKAPI


มาร่วมสร้าง Community และพลิกโฉมวงการ ‘ธุรกิจร้านอาหารกลางคืน’ ไปด้วยกัน



📌 ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร

Facebook : Torpenguin

Instargram : torpenguin

TikTok : torpenguin

Youtube : Torpenguin

นิ้ว Article
เรียนรู้การทำธุรกิจและวิธีคิดแบบ 'Chitbeer' ทำยังไงให้ลูกค้าเต็มโต๊ะตั้งแต่เที่ยงวัน !